ต้องยอมรับว่าในตอนนี้ ใครที่กำลังมีความคิดอยากจะดันอันดับเว็บไซต์ด้วยการทำ SEO แต่ไม่มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการพัฒนาเว็บไซต์ อาจเป็นเรื่องยากที่จะคาดหวังผลลัพธ์ที่ดี เพราะอย่างที่รู้กันว่าองค์ประกอบการทำ SEO ในปัจจุบันครอบคลุมตั้งแต่การสร้างเนื้อหาคอนเทนต์ไปจนถึงการปรับปรุงโค้ดของโครงสร้างเว็บไซต์ ฉะนั้นไม่ว่ากรณีใดก็ตาม การได้รับการสนับสนุนจากนักพัฒนาเว็บไซต์โดยตรงหรือมีความรู้เบื้องต้นในการพัฒนาเว็บไซต์กลายเป็นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับการทำ SEO
แต่นักพัฒนาเว็บไซต์หลายคนมักจะกังวลกับปรับปรุงให้เว็บไซต์ทำงานได้อย่างถูกต้องมากกว่าการดึงดูดให้ผู้คนเข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์ หากคุณเป็นนักพัฒนาเว็บไซต์และต้องการยกระดับทักษะการพัฒนาเว็บไซต์ในแนวทางการทำ SEO อย่างถูกต้อง ในบทความนี้นำข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับ SEO ที่ควรรู้ 8 เรื่องสำหรับนักพัฒนาเว็บไซต์ รับรองว่าอ่านจบแล้วสามารถนำไปปรับใช้กับการทำงานจริงได้ทันที
1. ความปลอดภัยของเว็บไซต์
หนึ่งในเงื่อนไขหรือปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ผลลัพธ์การทำ SEO ประสบความสำเร็จ คือ ”ความปลอดภัยของการใช้งานเว็บไซต์” การที่เว็บไซต์ถูกแฮกเกอร์หรือถูกมัลแวร์เล่นงานจะส่งผลโดยตรงต่อประสบการณ์ของผู้ใช้งาน และแน่นอนว่าสิ่งเดียวที่กูเกิลคิดคือ “จะทำอย่างไรให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งานมากที่สุด” ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกที่เว็บไซต์เหล่านั้นจะถูกกูเกิลประเมินและจัดอันดับเว็บไซต์ที่ไม่ดี
ด้วยเหตุดังกล่าว ต้องไม่ลืมที่จะตรวจสอบเว็บไซต์เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีช่องโหว่ใดๆ ที่จะเปิดช่องให้เว็บไซต์ถูกเล่นงานโดยแฮกเกอร์หรือมัลแวร์ได้แบบง่ายๆ ข้อแนะนำในการแก้ปัญหาเรื่องนี้คือการติดตั้ง SSL Certificate (Secure Socket Layer) เพื่อเป็นการเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับเว็บไซต์และถือเป็นการป้องกันเว็บไซต์ขั้นพื้นฐานที่ควรต้องทำเป็นอย่างแรกเสมอ หรือการใช้ปลั๊กอินที่จะช่วยเพิ่มการป้องกันให้กับเว็บไซต์ก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่น่าสนใจ แต่ต้องระวังผลข้างเคียงเรื่องความเร็วของเว็บไซต์ด้วยเช่นกัน
2. Response Code
หากคุณเป็นมือใหม่ที่หัดทำ SEO ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะไม่รู้จัก HTTP Status Code แต่ถ้าคุณนิยามตัวเองว่าเป็นนักพัฒนาเว็บไซต์ที่กำลังจะดันอันดับเว็บไซต์ให้อยู่ในหน้าแรกแต่ยังทำหน้างงกับ HTTP Status Code ว่ามันคืออะไร? ต้องบอกว่าโอกาสติดอันดับหน้าแรกของเว็บไซต์อาจเหลือไม่ถึงครึ่งแน่นอน เพราะ HTTP Status Code มีความสำคัญในแง่การรับรู้ว่าหน้าเว็บไซต์ในตอนนี้มีปัญหาอะไร เพื่อที่จะได้แก้ไขปัญหานั้นได้ ถือว่าเป็นเรื่องพื้นฐานของ SEO ที่ต้องรู้เลยทีเดียว
โดย HTTP Status Code แบ่งได้เป็น 5 กลุ่มหลัก ดังนี้
- 1xx (Informational) เป็นกลุ่มโค้ดที่บ่งบอกว่าคำขอที่ส่งไปได้รับแล้ว แต่ต้องรอผลตอบรับจาก Server ก่อน
- 2xx (Successful) เป็นกลุ่มโค้ดที่บ่งบอกว่า Server ถูกประมวลผลแล้ว และไม่มีส่วนใด Error
- 3xx (Redirection) เป็นกลุ่มโค้ดที่แสดงว่ามีการส่งข้อมูลไปยัง Server แต่ถูก Redirect ไปหน้าเว็บไซต์อื่นแล้ว
- 4xx (Client Error) เป็นกลุ่มโค้ดที่บอกว่าหน้านี้ไม่สามารถแสดงผลได้ เนื่องจากอาจมีการเปลี่ยนโดเมนหรือหน้านี้ถูกลบไปแล้ว
- 5xx (Server Error) เป็นกลุ่มโค้ดที่บอกว่า Server กำลังมีปัญหา
ซึ่งแต่ละกลุ่มหลักก็จะมีโค้ดย่อยลงไปอีก ที่พบเจอกันบ่อยๆ เลยก็คือ 404 Not Found ซึ่งเป็นโค้ดที่แสดงว่าระบบหาหน้านี้ไม่เจอ ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุจากการที่เว็บถูกเปลี่ยนโดเมนหรือโดนลบไป หากเว็บไซต์มีหน้า 404 นี้เยอะมากเท่าไหร่ อัลกอริทึมของกูเกิลก็จะมองว่าเว็บไซต์นี้ไม่ตอบโจทย์การใช้งานของผู้คนและส่งผลต่ออันดับของเว็บไซต์โดยตรง
3. การทำ Redirects
สำหรับการทำ Redirects อธิบายง่ายๆ คือเป็นการตั้งค่าให้เว็บไซต์เปลี่ยนหน้าเองโดยอัตโนมัติ เมื่อหน้าเว็บไซต์นั้นถูกเรียกใช้งานระบบก็จะทำการเปลี่ยนหน้าเว็บไซต์ไปเป็นอีก URL ที่ถูกตั้งเอาไว้
ลองคิดดูว่าหากวันหนึ่งมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนชื่อโดเมนเว็บไซต์ แต่คะแนน SEO ที่ทำมาทั้งหมดก็ไม่อยากเสียไป เทคนิคที่นิยมใช้กันก็คือการทำ 301 Redirect ซึ่งเป็นวิธีที่กูเกิลแนะนำโดยตรงเพราะจะช่วยให้กูเกิลเห็นว่า URL ใหม่นั้นมีตัวตน เว็บไซต์เดิมที่ไม่มีแล้วก็จะไม่เป็นปัญหาเพราะได้มีการตั้งค่าให้มาที่เว็บไซต์ใหม่แทนไปแล้ว คะแนน SEO ที่ทำมาทั้งหมดก็จะไม่ศูนย์เปล่านั่นเอง
4. การทำ Sitemaps
การทำ Sitemaps หรือแผนผังของเว็บไซต์นอกจากจะเป็นมิตรกับผู้ที่เข้ามาใช้งานเว็บไซต์แล้ว ยังทำให้การเก็บข้อมูลของ Google Bots ทำงานได้แบบสะดวกสบายอีกด้วย ด้วยการทำหน้าที่เปรียบได้กับสารบัญของหนังสือช่วยให้ใครที่อยากหาอะไรก็สามารถเจอได้ในแผนผังนี้ ข้อแนะนำคืออย่าลืมตรวจสอบให้แน่ใจว่าทุกหน้าบนเว็บไซต์ที่ถูกจัดทำ Sitemaps แสดง Response Code 2xx เสมอ เพื่อยืนยันว่าหน้าเว็บนั้นไม่มีข้อผิดพลาดใดๆ เกิดขึ้น
5. เรื่อง URLs
กูเกิลได้ให้คำแนะนำสำหรับโครงสร้าง URL เอาไว้ว่า “ต้องรักษาโครงสร้าง URL ให้ไม่ซับซ้อน” พูดง่ายๆ คือ โครงสร้าง URL ของเว็บไซต์ควรเรียบง่ายที่สุด โดยพิจารณาจัดระเบียบเนื้อหาเพื่อให้การสร้าง URL เป็นไปอย่างสมเหตุสมผลและมีลักษณะที่คนทั่วไปเข้าใจได้ง่ายที่สุด หากเป็นไปได้ให้ใช้คำที่อ่านได้แทนที่จะเป็นตัวเลขรหัสยาวๆ หรือเป็นคำง่ายๆ ที่สื่อความหมายในตัว (สามารถอ่านข้อแนะนำเพิ่มเติมจากกูเกิลได้ที่นี่)
6. Mobile Friendly
มีใครที่สามารถอดทนไม่จับมือถือได้เกิน 8 ชั่วโมงบ้าง? คำตอบคือไม่มีหรือหากมีก็คงจะเป็นคนส่วนน้อยมากๆ และกูเกิลเข้าใจในเรื่องนี้เป็นอย่างดี จึงเป็นเหตุผลให้กูเกิลต้องปรับเปลี่ยนอัลกอริทึมที่จากเดิมไม่ได้สนใจเรื่องของการแสดงผลเว็บไซต์บนช่องทางอื่นๆ จนปัจจุบันกลายมาเป็นนโยบาย “Mobile First” ที่มีผลมากๆ สำหรับเว็บไซต์ที่ต้องการมีอันดับที่ดี
จริงๆ แล้วเว็บไซต์สมัยใหม่ไม่ค่อยพบเจอปัญหาเกี่ยวกับการแสดงผลบนอุปกรณ์มือถือเท่าไหร่ เนื่องจากเครื่องมือที่เป็นตัวช่วยในการสร้างเว็บไซต์หลายอันก็มีฟังก์ชันที่รองรับเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี จะมีก็แต่เว็บไซต์ที่ถูกสร้างมานานแล้วที่มักจะเจอปัญหาเหล่านี้ ฉะนั้นหากอยากให้เว็บไซต์มีอันดับที่ดีก็อย่าลืมปรับปรุงการแสดงผลเว็บไซต์บนอุปกรณ์มือถือเหล่านี้ด้วย
7. ความเร็วของเว็บไซต์
การโหลดหน้าเว็บช้าเพียงเสี้ยววินาทีอาจส่งผลให้คนส่วนใหญ่เลือกที่จะกดปิดเว็บไซต์นั้นทันทีและแน่นอนว่ากับกูเกิลก็เช่นกัน เพราะความเร็วของเว็บไซต์เป็นสิ่งสำคัญที่จะส่งผลต่อการทำอันดับ SEO โดยตรง การปรับปรุงความเร็วของเว็บไซต์สามารถทำได้หลายวิธี แต่ก่อนที่จะเริ่มปรับปรุงเว็บไซต์ต้องหาสาเหตุให้เจอก่อนว่าอะไรที่ทำให้เว็บไซต์ช้า?
- ไฟล์รูปภาพหรือวิดีโอ มีขนาดใหญ่เกินไป อาจแก้ไขด้วยการลองย่อหรือบีบอัดไฟล์ลง หรือตรวจดูว่าสกุลไฟล์ที่ใช้ใหญ่เกินไปหรือไม่
- ปลั๊กอินบนเว็บไซต์เยอะเกินไป ใครที่สร้างเว็บไซต์บน WordPress แล้วมีปลั๊กอินเยอะเกินไป ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เว็บไซต์โหลดช้าขึ้นหลายสิบเท่า วิธีแก้ไขคือลองเลือกใช้ปลั๊กอินที่สำคัญๆ เท่านั้น เพื่อเป็นการลดภาระการดาวน์โหลดของเว็บไซต์ให้น้อยลง
- ปัญหาด้านเทคนิค เช่น โค้ดของเว็บไซต์ สำหรับเว็บไซต์ที่เขียนขึ้นมาเองไม่ว่าจะเป็น HTML JavaScript หรืออื่นๆ ต้องคอยระมัดระวังในการเขียนโค้ดเป็นพิเศษ เพราะหากมีข้อผิดพลาดเพียงเล็กน้อย นั่นอาจทำให้ประสิทธิภาพของเว็บไซต์ตกลงหรือเกิดความไม่เสถียรขึ้นในทันที วิธีแก้ไขคือควรตรวจสอบเป็นประจำว่ามี Error เกิดขึ้นในส่วนไหนของเว็บไซต์หรือเปล่า
8. Heading Tags
Heading Tag พูดแบบนี้หลายคนอาจจะไม่คุ้นเท่าไหร่ แต่ถ้าบอกว่า H1 หรือ H2 หลายคนคงร้องอ๋อกันบ้างแล้วใช่ไหม? Heading Tag เป็นตัวช่วยที่ใช้สำหรับการกำหนดหัวข้อต่างๆ ของหน้าเพจว่าอะไรคือหัวข้อหลัก อะไรคือหัวข้อรอง โดยจะมีตั้งแต่ H1 จนถึง H6 สำหรับคำแนะนำในการใช้ Heading Tag คือ
- ใช้ในการวางโครงสร้างหน้าเพจ
- ใช้ H1 สำหรับหัวข้อหลักและเพียงแค่หน้าละ 1 ตำแหน่งเท่านั้น
- อย่าลืมใส่ Keyword ใน Heading Tag (ด้วยความเหมาะสม)
- Heading Tag มีผลต่อการแสดงผลบน Featured Snippet
รับปรึกษาการทำ Digital Marketing ที่ Relevant Audience
Relevant Audience บริษัทที่ให้บริการเกี่ยวกับ Digital Performance Marketing Agency โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อให้บริการด้านการตลาดดิจิทัล ให้ธุรกิจเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่กำลังมองหาผลิตภัณฑ์หรือบริการในเวลา สถานที่ และอุปกรณ์ที่เหมาะสม ผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ บริการของเราครอบคลุมทั้ง Search Marketing, Social Media Ads, Search Ads และ SEO (Search Engine Optimization) ไปจนถึง Influencer Marketing และยังเป็นส่วนหนึ่งในโปรแกรม Google Partners อีกด้วย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
โทร.: 02-038-5055
อีเมล: info@relevantaudience.com เว็บไซต์: www.relevantaudience.com