ใครก็ตามที่กำลังเริ่มต้นทำการตลาดผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่างอินสตาแกรม คงมีความรู้สึกสับสนและไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรให้มีผลลัพธ์ที่ดีใช่หรือไม่? ด้วยการที่ตัวแพลตฟอร์มมีการอัปเดตเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาจึงเป็นเรื่องยากที่นักการตลาดจะหาหลักการใดหลักการหนึ่งเพื่อยึดถือเป็นรูปแบบหลักในการทำการตลาดออนไลน์ ทำให้นักการตลาดมือใหม่จำนวนมากต้องพบเจอกับปัญหาการต้องคอยมาปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อให้สอดคล้องกับอัลกอริทึมและพฤติกรรมของผู้บริโภคอยู่ตลอดเวลา
ดังนั้นการวางแผนการทำคอนเทนต์หรือการทำ Content Plan จึงมีความสำคัญในแง่ของการช่วยให้บรรลุเป้าหมายได้ดีมากขึ้น ในบทความนี้จึงมาแนะนำ 6 ขั้นตอนการทำ Content Plan บนอินสตาแกรม ที่รับรองว่าใครที่กำลังเริ่มทำการตลาดออนไลน์บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอยู่สามารถนำไปปรับใช้ได้ทันที
1. กำหนดเป้าหมายของคอนเทนต์
สิ่งแรกที่ควรทำในการทำ Content Plan คือการตั้งเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของคอนเทนต์ก่อนว่าจะทำอะไร? ไปเพื่ออะไร? ไม่ว่าจะอยากเพิ่มจำนวนฐานผู้ชมให้มากขึ้น การสร้างแรงกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมระหว่างแบรนด์และผู้รับชม หรืออยากสร้างยอดขายให้มากขึ้น เมื่อตั้งเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ได้แล้วก็จะสามารถปรับแต่งเนื้อหาคอนเทนต์เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้ง่ายมากขึ้น จากนั้นให้ลองเซ็ตตัวชี้วัดต่างๆ (KPI) เพื่อวิเคราะห์ประสิทธิภาพของแต่ละแคมเปญ ว่ามีอะไรที่ขาดหรือมากเกินไปจะได้มีการปรับปรุงเนื้อหาคอนเทนต์ให้เหมาะสมนั่นเอง
2. รู้จักคุมโทน
สำหรับการคุมโทนในที่นี้ไม่ใช่แค่เพียงรูปแบบของกลุ่มสีที่เลือกใช้เท่านั้น แต่เป็นการคุม Mood and Tone ของทั้งเนื้อหาคอนเทนต์นั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นคู่สีไปจนถึงแฮชแท็กและแคปชันที่ใช้เพื่อให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน หากลองไปดูบทความ Best Practice บนเว็บไซต์ของอินสตาแกรมจะพบว่าอินสตาแกรมเองก็มีบทความที่บอกเคล็ดลับในเรื่องนี้อยู่เช่นกัน
โดยการรักษา Mood and Tone ของเนื้อหาไม่ว่าจะเป็นข้อความ รูปภาพหรือวิดีโอ ให้สอดคล้องกันเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างแบรนด์บนอินสตาแกรม เพราะจะช่วยในการสร้าง Brand Awareness ให้กับฐานลูกค้าใหม่ของแบรนด์มากขึ้น เพราะเมื่อแบรนด์มีเอกลักษณ์ที่ชัดเจนก็จะทำให้ผู้ที่รับชมสามารถจดจำแบรนด์ได้ดีขึ้น
3. เลือกใช้รูปแบบคอนเทนต์ต่างๆ ให้เป็นประโยชน์
แม้ว่าอินสตาแกรมจะเป็นแอปที่มีชื่อเสียงมาจากการแชร์รูปภาพเป็นหลัก แต่สำหรับแบรนด์ที่ต้องการเพิ่มการมีส่วนร่วมระหว่างแบรนด์และลูกค้าต้องทำให้แพลตฟอร์มอินสตาแกรมเป็นมากกว่าแค่แอปแชร์รูปภาพเฉยๆ
ในตอนนี้อินสตาแกรมมีฟีเจอร์ต่างๆ มากมายทำให้มีหลากหลายวิธีในการสร้างสรรค์เนื้อหาบนอินสตาแกรม นอกจากการแชร์รูปภาพแล้วยังมีวิดีโอคอนเทนต์ที่สามารถแสดงเนื้อหาตัวอย่างเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการของแบรนด์ได้ หรือแม้แต่ Instagram Reels ที่เป็นวิดีโอคอนเทนต์ขนาดสั้นก็เป็นอีกวิธีที่เหมาะสมในการช่วยกระตุ้นความรู้สึกต่อผู้รับชมให้สนใจสินค้าหรือบริการนั้นๆ ได้ รวมไปถึง Instagram TV และ Instagram Shopping ที่จะเป็นการเพิ่มความไว้วางใจให้กับผู้บริโภคหน้าใหม่มากขึ้น หากคอนเทนต์บนหน้าโปรไฟล์มีแต่รูปภาพก็ลองกลับไปเพิ่มเติมคอนเทนต์รูปแบบอื่นๆ ดูบ้าง รับรองว่าผลลัพธ์ที่ได้จะดีขึ้นแบบคาดไม่ถึงแน่นอน
4. ช่วงเวลาที่โพสต์
สำหรับเรื่องช่วงเวลาในการโพสต์ อาจเป็นเรื่องนานาจิตตัง เพราะต้องบอกว่าหลายคนคงจะเคยเห็นรีพอร์ตจากสำนักวิเคราะห์ทางการตลาดออนไลน์ต่างๆ จำนวนมากที่ระบุถึงช่วงเวลาที่เหมาะสมในการโพสต์คอนเทนต์ลงแต่ละแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ซึ่งเอาเข้าจริงๆ แล้วก็ได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง ดังนั้นนอกเหนือจากการกำหนดเวลาโพสต์คอนเทนต์ตามรีพอร์ตต่างๆ แล้วก็อยากให้ลองใช้ Analytics Tools ของตัวอินสตาแกรมเองอย่าง Instagram Insights เพื่อดูข้อมูลเชิงลึกของหลังบ้านแอคเคาท์ตัวเองจริงๆ ด้วย เพื่อที่จะช่วยให้คุณรู้จักกลุ่มเป้าหมายของคุณมากขึ้นเพื่อที่จะสามารถหาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการโพสต์คอนเทนต์ต่างๆ ให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้ หรือใครที่คิดว่าดูจะเป็นเรื่องยุ่งยากเกินไปก็อาจเริ่มต้นด้วยการไปส่องคู่แข่งดูว่าเค้าชอบลงตอนไหน เวลาไหน ก็ได้
5. สร้างปฏิทินการลงคอนเทนต์ (Content Calendar)
ถึงแม้ว่าคอนเทนต์ในมือของคุณจะมีประสิทธิภาพที่ดีมากแค่ไหน แต่หากไม่มีการทำ Content Calendar เพื่อที่จะทำให้รู้ว่าในแต่ละวันจะมีคอนเทนต์รูปแบบใดบ้าง หรือจะมีการโพสต์คอนเทนต์ในแต่ละวันมากน้อยแค่ไหน ก็จะทำให้เป็นเรื่องยากที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ของแคมเปญนั้นๆ ได้
ตัวอย่างเช่น ในกรณีที่เดือนนั้นมี Holiday Events เป็นจำนวนมากหากมีการทำ Content Calendar ก็จะทำให้สามารถวางแผนการทำคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์ได้มากขึ้น รวมไปถึงการช่วยสร้างความสม่ำเสมอในการลงคอนเทนต์ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุดสำหรับสายคอนเทนต์เลยก็ว่าได้ โดยการทำ Content Calendar ก็ไม่ใช่เรื่องยากอาจเริ่มต้นด้วยการรวบรวมหัวข้อ วันเวลาที่โพสต์ รูปแบบของคอนเทนต์ที่จะลง เวลาที่โพสต์และคำอธิบายรายละเอียดกับแฮชแท็กที่ต้องการใช้ลงใน Google Doc, Microsoft Office หรือเครื่องมือจดบันทึกอื่นๆ ตามความถนัด
6. วัดผลและวิเคราะห์
สำหรับขั้นตอนสุดท้ายในการทำ Content Plan คือการวัดผลและวิเคราะห์ สำหรับแพลตฟอร์มอินสตาแกรม มีเครื่องมืออย่าง Instagram Insights ที่ช่วยให้นักการตลาดหรือแบรนด์สามารถตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกต่างๆ อย่างการแสดงจำนวนการดูโพสต์หรือสถิติต่างๆ เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมกับโพสต์ได้ เพื่อช่วยให้เห็นว่าเนื้อหาแบบไหนที่มีประสิทธิภาพที่ดีที่สุด
ด้วยการวัดผลและวิเคราะห์อย่างเป็นประจำจะช่วยให้นักการตลาดสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบหรือเวลาได้ตามความเหมาะสมเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ชมจะสามารถเข้าถึงแบรนด์ได้ดีมากยิ่งขึ้น
รับปรึกษาการทำ Digital Marketing ที่ Relevant Audience
Relevant Audience บริษัทที่ให้บริการเกี่ยวกับ Digital Performance Marketing Agency โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อให้บริการด้านการตลาดดิจิทัล ให้ธุรกิจเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่กำลังมองหาผลิตภัณฑ์หรือบริการในเวลา สถานที่ และอุปกรณ์ที่เหมาะสม ผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ บริการของเราครอบคลุมทั้ง Search Marketing, Social Media Ads, Search Ads และ SEO (Search Engine Optimization) ไปจนถึง Influencer Marketing และยังเป็นส่วนหนึ่งในโปรแกรม Google Partners อีกด้วย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
โทร.: 02-038-5055
อีเมล: info@relevantaudience.com เว็บไซต์: www.relevantaudience.com